วันสุนทรพจน์โลกจัดขึ้นในวันที่ 15 มีนาคมของทุกปี เพื่อเฉลิมฉลองให้กับ “พลังของคำพูดสุนทรพจน์ ผ่านกิจกรรมการพูดสุนทรพจน์ทั่วโลก”
ประวัติวันสุนทรพจน์โลก (World Speech Day)
วันสุนทรพจน์โลกเปิดตัวที่การประชุมประชาธิปไตยเอเธนส์ในปี 2558 วันสุนทรพจน์โลกครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559 โดยมีเหตุการณ์ที่น่าจดจำในกรุงเอเธนส์ สิงคโปร์ ตาเวา และมอสโกวันสุนทรพจน์โลกปี 2560 มีกิจกรรมใน 80 ประเทศ สิ่งเหล่านี้มีตั้งแต่หอประชุมรัฐสภาในอูลานบาตอร์ไปจนถึงห้องเรียนในโรงเรียนในปาเลสไตน์ จากศูนย์อิสไมลีในบังกลาเทศ ไปจนถึงสมาคมโต้วาที มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford Union) จากโรงละครบรรยายในอีบาดันและลากอส ไปจนถึงโรงเรียนมัธยมและวิทยาลัยทั่วสหรัฐอเมริกา
ในปี 2563 มากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกมีส่วนร่วมใน WSD (World Speech Day) หลายกิจกรรมออกอากาศทางทีวีสตรีมสดผ่าน World Speech Day TV
เพื่อฉลองให้กับพลังของคำพูดสุนทรพจน์ พลังซึ่งแฝงอยู่ในคำพูดสุนทรพจน์สามารถบันดาลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย เช่น ช่วยเยียวยาอาการอกหัก สร้างความสามัคคีในชุมชน หรือเชื่อมความสัมพันธ์ที่คาดไม่ถึง ทั้งยังต้องการยกย่องถ้อยคำต่างๆ ที่ถือว่าเป็นสื่อกลางสื่อสารกับมวลชนที่มีมาช้านาน โดยไซมอน กิบสัน (Simon Gibson) เป็นผู้ก่อตั้ง World Speech Day และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในชื่อเดียวกัน ไซมอน กิบสันเชื่อว่า ใช่ว่าทุกคนจะมีพรสวรรค์ด้านการพูดสุนทรพจน์ แต่ทุกคนก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างสรรค์สังคมได้
มอตโต้สำหรับวันสุนทรพจน์โลกคือ “Thoughts for a Better World” คำพูดสุนทรพจน์สามารถเปลี่ยนโลกได้ การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเข้าไปเปลี่ยนแปลงที่ชีวิตของตนเอง ระดับท้องถิ่น หมู่บ้าน ชุมชน โรงเรียน ไปจนถึงชาติบ้านเมือง
ตัวอย่างสุนทรพจน์ที่ทีมงานวันสำคัญประทับใจและหยิบยกขึ้นมาในโอกาศวันที่ 15 มีนาคม วันสุนทรพจน์โลก (World Speech Day) อาจเรียกได้ว่า คำพูดสุนทรพจน์ที่โลกต้องจำ
บางส่วนของคำพูดสุนทรพจน์ของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ปักกิ่ง คนหนึ่ง ในหัวข้อใหญ่โตว่า “คนรุ่นใหม่ทำอะไรให้แก่โลกได้บ้าง”
สิ่งนี้ก็คือ คนรุ่นเรา ไม่ว่าจะเดินไปในเส้นทางใด ขออย่าได้ทำชั่ว
ขอแค่อย่าเปลี่ยนเป็นผู้ใหญ่แบบที่เราเคยรังเกียจในสมัยเด็ก
ถ้าต่อไปเราเป็นคนขายของแผงลอย ก็อย่าเอาน้ำมันทิ้งแล้วมาทอดของขาย
ถ้าขายผลไม้ ก็อย่าโกงน้ำหนักตราชั่ง
ถ้าเปิดโรงงาน เป็นเจ้านายคน ก็อย่ากดค่าแรง ลดคุณภาพวัตถุดิบ ผลิตของด้อยคุณภาพ
คนธรรมดาหนึ่งคน ในตำแหน่งหน้าที่การงานที่แสนธรรมดา ถ้าทำหน้าที่ของตนให้ดีได้ ย่อมเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก
เพราะเราทุกคน ตั้งแต่วันที่เราเกิดมา ก็มีผลเปลี่ยนแปลงโลก
ฉันเป็นนักศึกษากฎหมาย ถ้าในภายภาคหน้า ฉันสามารถเป็นผู้พิพากษาที่มีความยุติธรรม สังคมของเรา ก็จะมีผู้พิพากษาที่ดีเพิ่มขึ้นอีก 1 คน
และย่อมเป็นสังคมที่ดีขึ้นอย่างน้อยก็นิดนึง
ฉันหวังว่า ทุกคนจะตระหนักว่า แม้จะมีเหตุผลอันน่าเห็นใจแสนอย่างรองรับการทำชั่ว ตัวเราก็ต้องรักษามาตรฐานศีลธรรมของเราไว้ ด้วยเหตุผลเดียว นั่นก็คือ เราไม่ใช่สัตว์ป่าผู้โหยหิว แต่เป็นมนุษย์ผู้รู้ผิดชอบชั่วดี
เพื่อนร่วมรุ่นหนุ่มสาวของฉัน พวกเราสามารถเป็นคนหนุ่มสาวที่มีคุณภาพ ตลอดชีวิตเกลียดชังความชั่ว ไม่ปล่อยตัวตามกระแสแห่งคลื่นลม ไม่รับใช้ผู้มีอำนาจอย่างหลับหูหลับตา ไม่ลืมหลักการ ไม่ลืมความเป็นมนุษย์
ดังนั้น ฉันขอฝากถึงเพื่อนร่วมรุ่นที่รักทุกคน ถ้าในอนาคต มีคนพูดกับคุณว่า เธออย่าสะเออะมาเป็นนักศีลธรรม รู้จักปรับตัวเข้าสังคมบ้าง
เมื่อเวลานั้น เธอก็ควรมีความกล้าหาญเพียงพอ ที่จะตอบว่า ก็ฉันไม่เหมือนคุณนี่
ฉันไม่ได้มาเปลี่ยนตัวเองเพื่อเข้าสังคม
ฉันมามีส่วนเปลี่ยนแปลงสังคม
อ้างอิง
- บทความ สุนทรพจน์ในรายการทีวีสั้นๆ 3 นาที ของนักศึกษาชาวจีน ในหัวข้อใหญ่โตว่า คนรุ่นใหม่ทำอะไรให้แก่โลกได้บ้าง เผยแพร่ใน Facebook : Arm Tungnirun โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
https://www.facebook.com/armtung/posts/10152851412880025 -
บทความ World Speech Day เผยแพร่ใน Wikiwand
https://www.wikiwand.com/en/World_Speech_Day -
บทความ World Speech Day เผยแพร่ใน World Speech Day
https://worldspeechday.com/about/