วันมวยไทยแห่งชาติหรือวันนักมวย (National Muay Thai Day) ตรงกับวันที่ 17 มีนาคม ของทุกปี เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อระลึกถึงนายขนมต้มตลอดจนนักมวยไทยที่กล้าหาญจนกลายเป็นตำนานมาจนถึงทุกวันนี้
ประเทศไทยมีเอกลักษณ์ในศิลปะ และวัฒนธรรมมากมายที่ได้รับการยอมรับ และหนึ่งในเอกลักษณ์ที่มรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของประเทศไทยคือมวยไทย (Thai Boxing or Muay Thai) โดยมวยไทยมีรูปแบบของการต่อสู้แบบประชิดตัว ซึ่งใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเป็นอาวุธทั้งในการตั้งรับและโจมตี
มวยไทย (Thai Boxing or Muay Thai) เป็นกีฬา และศิลปะการป้องกันตัวประจำชาติของไทย ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นในอดีตเมื่อหลายร้อยปีก่อนจวบจนถึงปัจจุบันมวยไทยได้เป็นที่นิยมมากทำให้มีการจัดให้มวยไทยนั้นเป็นกีฬาประเภทหนึ่งอีกด้วย
กำเนิดมวยไทย
มวยไทย (Thai Boxing or Muay Thai) ศิลปะการต่อสู้แบบประชิดตัวซึ่งใช้ทั้งร่างกายเป็น อาวุธทั้งในการตั้งรับและโจมตี เป็นมรดกล้ำค่าของชนชาติไทย เริ่มขึ้นเมื่อใดนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด กล่าวกันว่า มวยไทยเกิดมาพร้อมกับคนไทย เพื่อการสร้างชาติไทยให้เป็นปึกแผ่น
พ.ศ. 1200
สมัยอาณาจักรนครหริภุญชัย
เริ่มจากพระฤาษีมีนามว่า ท่านสุกกะทันตะฤาษีกับท่านสุเทวะฤาษีได้ตั้งสำนักเรียนขึ้นที่เขาสมอคอน เมืองลวะปุระ หรือ เมืองละโว้ (แขวงเมืองลพบุรี) เพื่อสั่งสอนและถ่ายทอดธรรมวิทยาและศิลปะศาสตร์ ให้กับเหล่าขุนนางและท่านเจ้าพระยา ผู้ฝึกสรรพวิชา เรียกว่า มัยศาสตร์ หรือ ชาตรี ประกอบด้วยวิชาการต่อสู้ป้องกันตัวและใช้ในการศึกสงคราม อันได้แก่ วิชามวย วิชาดาบ วิชาธนู วิชาบังคับช้างและม้า
พ.ศ. 1291
สมัยอาณาจักรน่านเจ้า
การต่อสู้ด้วยมือเปล่า มวยไทยถูกนำมาใช้ควบคู่ กับอาวุธหอกและง้าวในการต่อสู้บนหลังม้า เพื่อทำศึกสงครามกับจีนนำมาสู่การรวบรวมอาณาจักรไทย ขึ้นเป็นอาณาจักรน่านเจ้า ในสมัยของพระเจ้าพีล่อโก๊ะ
พ.ศ. 1490
สมัยอาณาจักรโยนกเชียงแสน
มวยไทยถูกนำมาใช้เพื่อการขยายอาณาจักรไทยโดยปู่เจ้าลาวจก ผู้ครองเมืองฝาง (ปฐมกษัตริย์ในวงศ์ลวจักราช บรรพชนในราชวงศ์มังรายแห่งอาณาจักรล้านนา) รบพุ่งแย่งชิงดินแดนกับขอมจนสำเร็จ คนไทยจึงเริ่มขยายอาณาจักรลงมาทางตะวันตกเฉียงเหนือสร้างอาณาจักรสุโขทัย บางส่วนอพยพลงมา ตามลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และสร้างอาณาจักรอยุธยาสืบมา ต่อมาการต่อสู้ด้วยมือเปล่าได้มีการฝึกฝนและคิดค้นยุทธวิธีการต่อสู้ให้เป็นศิลปะป้องกันตัวเพื่อ การรบ แบบประจัญบานในระยะประชิดตัว จากหลักฐานการจดจารึกในใบลานเป็นภาษาล้านนา เรียกว่า มังรายศาสตร์หรือกฎหมายมังราย ในสมัยพระเจ้ามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ จารึกใบลานนี้มีบทบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับ คำว่า "มวย" เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ.1839
พ.ศ.1781-1951
สมัยอาณาจักรสุโขทัย
มวยไทยในยุคนี้ กษัตริย์และชายชาตรีทุกคนมักฝึกซ้อมมวยไทยควบคู่กับการใช้อาวุธ ให้เกิดความชำนาญอยู่เสมอ เพื่อเตรียมตัวเข้ารับราชการทหารและรับใช้ชาติ พร้อมออกรบปกป้องบ้านเมืองจากการรุกรานของข้าศึกอาณาจักรข้างเคียง เพราะอาณาจักรสุโขทัย มีศัตรูอยู่รอบด้าน โดยทำสงครามใหญ่ 3 ครั้งตลอดระยะเวลา 140 ปี จนกระทั้งกรุงศรีอยุธยาสามารถแย้งชิงอำนาจและเข้ามาครอบครองอาณาจักรสุโขทัย ในวาระสุดท้าย
พ.ศ. 1818-1860
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ได้กล่าวถึงมวยไทย ในการเขียนตำราพิชัยสงคราม การเรียนมวยไทยในยุคนี้ นอกจากเรียนในสำนัก ยังสามารถฝึกมวยไทยตามวัด โดยมีพระสงฆ์หรือครูมวยเป็นผู้ฝึกสอนกันอย่างแพร่หลาย
พ.ศ. 1890-2310 417 ปี
สมัยอาณาจักรอยุธยา
กรุงศรีอยุธยานับตั้งแต่สถาปนาขึ้นเป็นราชธานีในปี พ.ศ.1893 ผ่านการทำศึกสงครามกับอาณาจักรสุโขทัย เขมร มอญ และพม่า โดยรบทำศึกกับพม่ามากที่สุดนับได้ถึง 39 ครั้ง ชาวไทยทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิงต่างฝึกฝนมวยไทยและศาสตราวุธต่างๆ เพื่อการศึกสงครามในการปกป้องชาติบ้านเมือง ดังเช่นชาวบ้านบางระจัน
พ.ศ.2133-2147
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
พระองค์ทรงตั้ง "กองเสือป่าแมวมอง" หรือหน่วยรบแบบกองโจร โดยพระองค์ ได้ฝึกสอนศิลปะการต่อสู้มวยไทยและการใช้ศาสตราวุธต่างๆ ให้กับทหารกองนี้ด้วยพระองค์เอง จนสามารถกอบกู้เอกราชจากพม่าได้ในปี พ.ศ.2127
พ.ศ.2147-2233
สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เมื่อบ้านเมืองสงบร่มเย็น เว้นจากการศึกสงคราม พระองค์จึงทรงให้การสนับสนุนการกีฬามวยไทย มีนักมวยอาชีพเกิดขึ้น โดยมีการแข่งขันประชันฝีมือกันระหว่างค่ายมวยต่างๆ และพระองค์ทรงให้มีการจัดตั้ง "กรมนักมวย หรือทนายเลือกเป็นกรมกรมหนึ่งสำหรับกำกับนักมวย" ทนายเลือกคือนักมวยฝีมือดีที่ถูกคัดเลือกมา เพื่ออารักขาเป็นทหารรักษาพระองค์ให้กับพระมหากษัตริย์
พ.ศ. 2317
สมัยกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2
นายขนมต้ม นักสู้ของไทยได้ถูกจับเป็นเชลยที่พม่า และ ในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2317 ได้ขึ้นชกมวยต่อหน้าพระที่นั่งพระเจ้ามังระ โดยนายขนมต้มได้ขึ้นชกกับนักมวยพม่าถึง 10 คน ทำให้ศิลปะการต่อสู้ การป้องกันตัวของไทยได้เป็นที่รู้จัก และมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา นายขนมต้มยังได้รับการยกย่องให้เป็นเสมือน “บิดามวยไทย” อีกด้วย
มวยไทย 5 สาย มีอะไรกันบ้าง ?
มวยลพบุรี
มวยลพบุรีนั้น เป็นมวยไทยภาคกลาง เอกลักษณ์ของมวยลพบุรี คือ เป็นมวยที่ชกฉลาด มีการรุกรับที่คล่องแคล่วว่องไว ต่อยหมัดตรงแม่นยำ เรียกว่า “มวยเกี้ยว” หมายถึง มวยที่ใช้ชั้นเชิงเข้าทำคู่ต่อสู้ โดยใช้กลลวงมากมาย เคลื่อนตัวอยู่เสมอ ฉายา “ฉลาดลพบุรี”
มวยโคราช
มวยโคราชนั้น ถือเป็นมวยไทยภาคอีสาน เอกลักษณ์ของมวยโคราช คือ สวมกางเกงขาสั้น ไม่สวมเสื้อ สวมมงคลที่ศีรษะขณะชก มีการพันหมัดแบบคาดเชือกตั้งแต่หมัดขึ้นไปจรดข้อศอก เพราะมวยโคราช เป็นมวยชกหมัดวงกว้างหนักหน่วง ที่เรียกว่า “หมัดเหวี่ยงควาย” ฉายา “หมัดหนักโคราช” ซึ่งการพันเชือกเช่นนี้เพื่อป้องกันการเตะ ต่อยนั่นเอง
มวยไชยา
มวยไชยานั้น ถือเป็นมวยไทยภาคใต้ เป็นศิลปะมวยประจำถิ่นอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เอกลักษณ์ของมวยไชยา มีอยู่ 7 ด้าน การตั้งท่ามวยหรือการจดมวย ท่าครูหรือท่าย่างสามขุม การไหว้ครูร่ายรำ การพันมือแบบคาดเชือก การแต่งกาย การฝึกซ้อมมวยไชยา และแม่ไม้มวยไชยา ท่าที่สำคัญคือท่า “เสือลากหาง” เคล็ดมวยไชยาการป้องกันตัว และจะเป็นการป้องกันตัวแบบ 4 ป. คือ “ป้อง ปัด ปิด เปิด” และนอกจากการใช้หมัด เท้า เข่า ศอก แล้วยังมีวิชาการต่อสู้เช่น การ “ทุ่ม ทับ จับ หัก” อีกด้วย ฉายา “ท่าดีไชยา” และมวยไชยาจะคาดเชือกแค่ข้อมือเท่านั้น
มวยท่าเสาและพระยาพิชัย
มวยท่าเสา ถือเป็นมวยไทยภาคเหนือ แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่ากำเนิดขึ้นเมื่อใด ใครเป็นครูมวยคนแรก แต่จากหลักฐานที่ปรากฏอยู่ทำให้ทราบว่าครูมวยไทยสายท่าเสาที่มีชื่อเสียงโด่งดัง คือ ครูเมฆ เอกลักษณ์ของมวยท่าเสา คือ การจดมวยกว้างและให้น้ำหนักตัวไปทางด้านหลัง เท้าหน้าสัมผัสพื้นเบา ๆ ทำให้ออกมวยได้ไกล รวดเร็ว และรุนแรง ฉายา “ไวกว่าท่าเสา” ส่วนกลยุทธ์มวยพระยาพิชัยดาบหักเป็นทั้งมวยอ่อนและแข็ง สามารถรุกรับตามสถานการณ์ รู้วิธีรับก่อนรุก เรียนแก้ก่อนผูก เรียนรู้จุดอ่อนจุดแข็งของตนเองและคู่ต่อสู้
มวยพลศึกษา
มวยพลศึกษา ได้ก่อกำเนิดมาพร้อมกับการจัดตั้งสามัคยาจารย์สมาคม เพื่อจัดเป็นสถานที่การออกกำลังกาย สำหรับประชาชนทั่วไป และได้มีการสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีปรมาจารย์ผู้ถ่ายทอดวิชามวยไทยสายพลศึกษาที่มีชื่อเสียงคือ อาจารย์สุนทร ทวีสิทธิ์ หรือ อาจารย์กิมเส็ง ทวีสิทธิ์ ปรมาจารย์มวยที่มีชื่อเสียง มีความเชี่ยวชาญหมัด นอกจากหมัดแล้วยังเน้นความเร็ว จังหวะเข้า-ออกที่คล่องแคล่วว่องไว เรียกได้ว่ามวยพลศึกษาเป็นมวยครบเครื่อง ฉายา “ครบเครื่องพลศึกษา”
ประโยชน์น่ารู้เกี่ยวกับมวยไทย
- มีความมั่นใจในตนเอง
- ทำให้เกิดความกล้าหาญ
- มีอำนาจบังคับจิตใจดีขึ้น
- มีความสุขุม รอบคอบ และเยือกเย็น
- มีความพินิจ พิเคราะห์ รู้จักเหตุผล
- มีสมรรถภาพทางกายดี
- มีความมานะอดทน
- มีเชาวน์ไว ไหวพริบดี ตัดสินใจได้ฉับพลัน
- มีความเข้มแข็ง อดทน
- มีความสุจริต ยุติธรรม
- มีความสนุกสนาน ร่าเริง เบิกบาน
- มีความสามัคคี
- มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย
- มีวินัย ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผน
- มีความโอบอ้อมอาร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
- เป็นพลเมืองดีของชาติ
- มีรูปร่างทรวดทรงสง่างาม
- สร้างภูมิต้านทานโรคให้แก่ร่างกาย
- สามารถป้องกันตนเองและคุ้มครองผู้อื่นในยามมีอุบัติภัยต่างๆ
จากวีรกรรมความกล้าในครั้งนั้น ทำให้มีการจัดตั้งวันที่ 17 มีนาคม ของทุกปีเป็น วันมวยไทยแห่งชาติหรือวันนักมวย (National Muay Thai Day) เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของ นายขนมต้ม และเป็นเกียรติแก่นักมวยไทย ซึ่งได้มีการสร้างอนุเสาวรีย์นายขนมต้ม ที่สนามกีฬากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกด้วย
อ้างอิง
- มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประโยชน์ของมวยไทย
https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=35&chap=3&page=t35-3-infodetail02.html - สนเทศน่ารู้ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง วันมวยไทย 17 มีนาคม
https://www.lib.ru.ac.th/journal2/?p=422 - กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มวยไทยสายพลศึกษา
https://www.dpe.go.th/manual-preview-401291791794
คุณสามารถช่วยแก้ไขในWiki Muaythai ได้ไหมครับ เพราะมันระบุว่าความเป็นมามวยไทยมาจากโบกาตอ!?
ตอบลบ